วันนี้(22 พ.ย.) ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการลงพื้นที่เพื่อ
ติดตามการดำเนินงานและมอบนโยบายการศึกษาในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แก่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย( กศน.)จังหวัดกลุ่มอ่าวไทย (นครศรีธรรมราช, สงขลา, พัทลุง, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทำให้ได้รับฟังข้อคิดเห็นและสภาพปัญหาจากตัวแทนพี่น้องชาว กศน.ในกลุ่มอ่าวไทย ของภาคใต้ทั้ง 5 จังหวัด ที่ชัดเจนในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ค้างคามานานหลายปีที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น เรื่องการขาดอัตรากำลังบรรจุครู กศน. ของภาคใต้ประมาณ 300-400 อัตรา เรื่องการขอใช้อาคารสถานศึกษาเดิมของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เพื่อใช้เป็นที่ทำการจัดการศึกษาของ กศน. ในพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งตนจะมีการพิจารณาหารือกับ สพฐ.ต่อไป ส่วนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายนั้น ได้ขอให้พี่น้อง กศน.ทุกคน ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการขับเคลื่อนนโยบาย กศน.เข้าสู่ยุคดิจิทัล หรือ กศน.wow ให้ประสบความสำเร็จทั้ง 6 ด้าน และขอยืนยันว่าพร้อมจะแก้ทุกปัญหาอย่างสุดความสามารถ ทุกข์ก็เห็นหน้า สุขก็เห็นหน้า พร้อมที่จะทลายทุกข้อจำกัดทางการศึกษาโดยไม่ทิ้งคน กศน. และจะตั้งใจทำงานเพื่อชาว กศน. ให้มีความสุขเท่าที่จะมากได้

ด้าน นางเกษร ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมสำนักงาน กศน.จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการโดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ในการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน...บนความความพอเพียง จนเกิดครัวเรือนต้นแบบการจัดกิจกรรมที่หลากหลายในพื้นที่ เช่น ชุมชนต้นแบบทางด้านการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมบ้านหนังสือชุมชน กิจกรรมการสร้างสุขภาวะในชุมชน กิจกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เน้นการดำรงชีวิตตามวิถีอินทรีย์ เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น จากนั้นจะมีการถอดบทเรียนเพื่อความยั่งยืนและต่อยอดงานบนพื้นฐานการพัฒนางาน “กิจกรรมสร้างเครือข่าย เครือข่ายสร้างกิจกรรม” โดยกิจกรรมสร้างเครือข่ายได้วางรูปแบบการจัดกิจกรรมและประสานงานร่วมกันสนับสนุนทางด้านงบประมาณ สื่อ/วัสดุ วิทยากร ภูมิปัญญา/ปราชญ์ชาวบ้าน แหล่งเรียนรู้ ส่วนเครือข่ายสร้างกิจกรรม ขับเคลื่อนโดยกำหนดรูปแบบการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ผ่านกระบวนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมนำ ร่วมประสาน เพื่อให้เกิดกิจกรรมและองค์ความรู้ที่หลากหลาย เช่น กรณีตัวอย่าง ของการจัดกิจกรรมการบริหารการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในชุมชนบ้านท่าจันทน์ หมู่ที่ 4 ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม ที่ได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมจนส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่บ้านท่าจันทน์ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต เน้นการลดรายจ่ายในครัวเรือนและการผลิต ตลอดจนสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพที่หลากหลาย
ผอ.กศน.จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากการที่ กศน.เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี ทำให้ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมาก ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนา ตามแนวคิด “สร้างความยั่งยืน บนพื้นฐานทรัพยากรในชุมชน” ซึ่งมีครัวเรือนต้นแบบ เข้าร่วม จำนวน 30 ครัวเรือน ในรูปแบบการเกษตรเชิงซ้อน สามารถทำรายได้เพิ่มในครัวเรือนละไม่ต่ำกว่า 6,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ในเชิงเศรษฐกิจและทางสังคม ทำให้ครัวเรือนในครอบครัวเกิดความอบอุ่น มีสุขภาพจิตดีขึ้น มีความเครียดทางเศรษฐกิจน้อยลง นับเป็นผลที่ดีเกิดขึ้นกับชุมชนและสังคมมากเกินประมาณค่า กศน.อำเภอขนอมจึงได้คัดเลือกชุมชนบ้านท่าจันทน์ เป็นชุมชนต้นแบบแห่งการเรียนเรียนรู้
“พอเพียงก็เพียงพอ” และได้รับการยอมรับจากเครือข่ายภายนอกเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ทางชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนามาโดยตลอด จนเกิดเป็นต้นแบบของความเข้มแข็งในชุมชนอย่างยั่งยืน