อะไรที่ทำให้ “ไอโฟน” สามารถครองใจคนทั่วโลก รวมถึงคนไทยหลังเปิดตัวรุ่นแรกมาตั้งแต่ปี 2007 หรือปี 2550 สาวกตั้งตารอไอโฟนรุ่นใหม่ ๆ ที่เปิดตัวทุกปีถึงขนาดมีบางคนไปเข้าคิวค้างคืนหน้าช้อปแอปเปิล เพื่อรอเป็นเจ้าของไอโฟนในการเปิดขายวันแรก...มาฟังจากมุมมองของ “เอ็ม-ขจร เจียรนัยพานิชย์” ซึ่งเป็น “แฟนพันธุ์แท้สตีฟ จ๊อบ” และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MacThai และ MangoZero
“เอ็ม” บอกว่า คนใช้ไอโฟนจะมีภาพจำ 2 อย่าง คือ ใช้ง่ายและทนทาน ซื้อเครื่องหนึ่งใช้ได้นาน 4-5 ปี ปัจจุบันไอโฟนที่นิยมไม่ใช่ไอโฟน 10 หรือ 11 แต่เป็นไอโฟน 7 ที่มีคนใช้ทั่วโลกมากที่สุด ซึ่งออกวางขายตั้ง 5-6 ปีมาแล้ว
“แอปเปิลซัพพอร์ตระบบปฎิบัติการที่เรียกว่าไอโอเอส (IOS) หลายปี รุ่นเก่าก็ยังสามารถอัพเดทได้ และวัสดุที่ใช้ทำเครื่องทนทานและเป็นผู้นำในเรื่องดีไซน์ที่ออกพรีเมียม และสุดท้ายเป็นเรื่องค่านิยม ถือแล้วดูโก้ จึงเป็นปัจจัยให้ไอโฟนทุกรุ่นที่ออกมาได้รับความนิยมขายดีขึ้นทุกปี ไม่มีปีไหนที่แย่ หรือแม้แต่ช่วงโควิดผลประกอบการแอปเปิลก็ดี ที่ผ่านมาไอโฟนขายได้ปีละประมาณ 200 ล้านเครื่อง รุ่นแรกจนถึงไอโฟน 11 มียอดขายไม่น้อยกว่า 2,200 ล้านเครื่องแล้ว”
กับประเด็นที่หลายคนสงสัยทุกครั้งที่เปิดตัววันแรกในต่างประเทศ รวมถึงในไทยจะมีคนไปต่อคิวล่วงหน้า ถึงขนาดไปนอนเฝ้าช้อปรอเปิดขายวันแรกนั้น ถามว่าเป็นหน้าม้าหรือเปล่า คุณเอ็มบอกว่าเป็นเรื่องยากที่จะบอก แต่ปีหนึ่งแอปเปิลขายไอโฟนได้ 200 ล้านเครื่อง ถ้าต้องจ้างหน้าม้าเอาแค่ 1% ก็ตั้ง 2 ล้านคน คงไม่มีทางจ้างได้ เท่าที่ตัวเองเคยได้ไปต่อคิวซื้อไอโฟน 10 ที่สิงคโปร์ได้คิวที่ประมาณ 200-300 ก็ต้องไปค้างคืนที่นั้น ก็ยังไม่เคยเห็นว่ามีใครเป็นหน้าม้า
“คนที่มีไอโฟนช่วงแรกจะรู้สึกว่าภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของตั้งแต่แรก ๆ ส่วนหนึ่งที่เห็นและเคยต่อคิวที่สิงคโปร์มีกว่า 400 คน ประมาณ 300 คนจะเป็นผู้ซื้อจริงและอีก 100 คน อาจเป็นการซื้อไปขายต่อ แต่ว่าต่อให้แอปเปิลพยายามผลิตมามากแค่ไหนในวันแรกก็จะขายหมดในล็อตแรก ถ้าไม่สามารถซื้อได้ต้องรอไปอีก 3-4 สัปดาห์ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งทำไมคนต้องการเป็นเจ้าของในวันแรกที่วางขาย”
อย่างไรก็ตาม แอปเปิลมีจุดเด่นอย่างหนึ่งคือ หากทำอะไรก่อนเจ้าอื่นจะเป็นอะไรที่ล้ำมาก กับถ้าทำหลังคนอื่นก็จะเป็นอะไรที่ใช้ได้จริง เช่น ไอโฟน 4 เปิดตัว สิริ ที่เป็นการสั่งด้วยเสียง พูดกับมือถือได้ ก็เป็นคนแรกที่ทำ แอปเปิลตัดสายหูฟังออกจากไอโฟน 7 ก็เป็นเจ้าแรก ตอนนี้โทรศัพท์มือถือหลาย ๆ แบรนด์ ก็เอาหูฟังออกกับบางสิ่งที่ทำหลังคนอื่น เช่น ฟังก์ชันสแกนใบหน้าไม่ได้ทำคนแรก แต่เป็นระบบที่ใช้งานได้จริงและล้ำที่สุด จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครทำได้ดีเท่าแอปเปิล เพราะอย่างไอโฟน 10 สามารถสแกนใบหน้าได้ตอนกลางคืนใส่หน้ากากมาหลอกสแกนก็ยังไม่ได้ แอปเปิลจึงเป็นบริษัทที่ถ้าจะทำต้องใช้งานได้จริง
สิ่งที่ไอโฟนแตกต่างจากโทรศัพท์มือถือแบรนด์อื่น ๆ อีกอย่างก็คือเรื่องราคาขายที่สูงและยืนราคาเดิม ตั้งแต่เปิดตัวจนกว่าจะออกรุ่นใหม่ถึงลดราคา เรื่องนี้คุณเอ็ม บอกว่าเพราะแอปเปิลมองตัวเองเป็นพรีเมียมแบรนด์ เราไม่เคยเห็นแอปเปิลออกมาประกาศว่าเซลส์ 50% แอปเปิลมีนโยบายนี้ทั้งโลก โดยที่ค่ายมือถือไม่สามารถติดราคาเซลส์เองได้ การทำแบบนี้ทำให้แบรนด์ดูมีแวลลู มีราคาเป็นเทคนิคเดียวกับหลุยส์ วิตตอง ที่เป็นแบรนด์หนึ่งไม่เคยลดราคาสินค้า
แต่ไม่ใช่ว่าแอปเปิลไม่แคร์ลูกค้าหากช่วงไหนที่ขายไม่ดีก็จะออกรุ่นใหม่มาที่มีราคาไม่แพง เช่น ปีที่แล้วไอโฟน 11 ก็ขายดีแต่อาจไม่ถึงยอดเป้าหมาย อาจเพราะมีโควิดด้วย ช่วงต้นปีจึงออกไอโฟน เอสอี (se) ซึ่งมีราคาประมาณ 1.7-1.8 หมื่นบาท ทำให้แทนที่จะต้องซื้อไอโฟนราคา 3 หมื่นบาท ก็จ่ายถูกลงเป็นเทคนิคหนึ่งโดยที่ไม่ต้องลดราคาไอโฟนลง แต่ออกตัวใหม่มาให้คนเลือกแทน
เมื่อเปิดตัวไอโฟน 12 ออกมาไอโฟนบางรุ่นก็จะเลิกขายเลย เช่น ไอโฟน XS เลิกขาย เพราะกลัวราคาตกถือเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง ซึ่งแบรนด์อื่นทำไม่ได้เพราะระบบซัพพลายเชนไม่ดีเท่าแอปเปิล เช่น สมมุติขายมือถือปีละ 200 ล้านเครื่องทำให้ต้องสต๊อกของเป็นล้าน ๆ แต่แอปเปิลมีอายุสินค้านับเป็นชั่วโมง สมมุติมีคำสั่งซื้อเข้ามาก็จะผลิตตามที่สั่ง ทำให้ไม่ต้องมีของบนชั้นวางสินค้าจำนวนมากแต่แบรนด์อื่นเมื่อมีสินค้าบนชั้นวางมาก รุ่นใหม่จะออกมา ของเก่าที่ผลิตแล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องลดราคาลง
ถือเป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่น่าสนใจแต่เรื่องราวของแอปเปิลและไอโฟนยังไม่จบแค่นี้ อาทิตย์หน้ามาติดตามอ่านกันต่อว่าไอโฟน 12 มีจุดเด่นอย่างไร และจะปังปุริเย่มั้ยในตลาดไทย.